ในปัจจุบันการใช้ Filler (ฟิลเลอร์) หรือสารเติมเต็มเป็นที่นิยมใช้เพิ่มขึ้นมากในปัจจุบัน เพื่อเพิ่มปริมาตรของใบหน้า ทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์ หรือเพื่อลดริ้วรอยบนใบหน้าชนิดที่เป็นร่องลึก แม้ในขณะที่ผู้ป่วยไม่ได้แสดงสีหน้า (static lines) ในอดีตเคยมีการใช้ไขมันของผู้ป่วยเองเป็นสารเติมเต็ม ฉีดเข้าไปในบริเวณที่ต้องการเพิ่มปริมาตร แต่วิธีนี้ยังมีผลข้างเคียงและต้องใช้เวลาในการพักรักษานาน จึงได้มีการนำคอลลาเจนจากคน และจากสัตว์ เช่น วัว หรือ หมู มาใช้ แต่ยังมีปัญหาเรื่องผลข้างเคียงจากการแพ้โปรตีนจากสัตว์อยู่ ต่อมามีการพัฒนาสารเติมเต็มซึ่งทำจากกรดไฮยาลูโรนิก(hyaluronic acid) มาใช้ และสารชนิดนี้เป็นที่นิยมมากที่สุดในปัจจุบัน เนื่องจากกรดไฮยาลูโรนิกเป็นสารที่มีคุณสมบัติเฉื่อย ไม่ทำให้เกิดการแพ้ มีความคงตัว และอยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานาน อีกทั้งยังสามารถทำให้เสื่อมสลายไปได้ในกรณีที่เกิดผลข้างเคียงจากการรักษาด้วยเอ็นไซม์ไฮยาลูโรนิเดส (hyarulonidase) แต่เดิมกรดไฮยาลูโรนิกที่ใช้เพื่อเป็นสารเติมเต็มนั้นได้มาจากสัตว์ เช่น ไก่ ดังนั้นเมื่อจะนำมาใช้สำหรับการรักษา จะต้องทำการทดสอบภูมิแพ้ที่ผิวหนังก่อนการใช้ ระยะหลังจึงมีการสังเคราะห์กรดไฮยาลูโรนิกที่เป็น biocompatible non-animal stabilized hyaluronic acid (NASHA) ขึ้นมา และสารชนิดนี้เป็นที่นิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าจะมีการสังเคราะห์สารเติมเต็มที่สามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ซึ่งเป็นการใช้สารพวก calcium hydroxyapatite, ซิลิโคน, polymethylmethacrylate (PMMA), และสารอื่น ๆ ขึ้นมาก็ตาม สารเหล่านี้ก็ยังไม่เป็นที่นิยม เนื่องจากต้องใช้เทคนิคการฉีดที่ยากกว่า และเกิดผลข้างเคียงมากกว่าการใช้กรดไฮยาลูโรนิก ในประเทศไทยมีเพียงกรดไฮยาลูโรนิกเท่านั้นที่ได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาให้ใช้เป็นสารเติมเต็มเพื่อทำให้ใบหน้าดูอ่อนเยาว์
คุณสมบัติกรดไฮยาลูโรนิกที่ใช้เป็นสารเติมเต็มจะขึ้นอยู่กับความเข้มข้น ขนาดโมเลกุล ปริมาณของ cross-linking สารที่ใช้เพื่อทำให้เกิด cross-linking และความแข็งของสาร โดยทั่วไปถ้ามีปริมาณของ cross-linking มาก ก็จะทำให้สารมีความแข็งตัวมากขึ้น และสามารถคงอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น สารที่มีขนาดของโมเลกุลเล็กจะเหมาะกับการใช้รักษาริ้วรอยตื้น ๆ และคงอยู่ในร่างกายได้นานประมาณ 6 เดือน ในขณะที่สารที่มีขนาดของโมเลกุลใหญ่จะใช้สำหรับการเพิ่มปริมาตรของใบหน้า และการรักษาริ้วรอยหรือร่องขนาดลึก ซึ่งจะคงอยู่ในร่างกายได้นาน 6-12 เดือน ริ้วรอยที่นิยมใช้การฉีดสารเติมเต็มเพื่อรักษา เช่น รอยย่นบริเวณหว่างคิ้ว รอยตีนกา และรอยย่นบนหน้าผาก สารเติมเต็มยังสามารถเพิ่มปริมาตรของใบหน้าบริเวณแก้ม ร่องแก้ม และบริเวณอื่น ๆ ได้ด้วย
ขั้นตอนและเทคนิคการฉีดฟิลเลอร์ Filler
ก่อนการฉีดสารเติมเต็มฟิลเลอร์ บนใบหน้าอาจใช้ยาชาชนิดทา ใช้น้ำแข็งประคบ หรือการฉีดยาชา เพื่อลดอาการเจ็บปวดระหว่างการรักษา เทคนิคการฉีดมีหลายวิธี แต่ที่นิยมใช้มี 2 วิธี คือ linear threading สำหรับริ้วรอยที่เป็นเส้นตรง และ fanning สำหรับบริเวณที่ต้องการเพิ่มปริมาตร ขณะฉีดควรฉีดสารทีละน้อยและทำอย่างช้า ๆ เพื่อลดการเจ็บปวดระหว่างการฉีด และลดการช้ำหลังการฉีด ไม่ควรฉีดสารเติมเต็มในบริเวณผิวหนังชั้นตื้น ๆ เนื่องจากจะทำให้เห็นสารเติมเต็มก้อนสีน้ำเงินใต้ผิวหนัง ภายหลังการฉีดควรจะนวดบริเวณที่ฉีดเบา ๆ เพื่อลดการจับตัวเป็นก้อนของสารเติมเต็มฟิลเลอร์ที่ฉีดเข้าไป และการใช้น้ำแข็งประคบภายหลังการฉีดจะช่วยลดการอาการปวดและบวมได้
ผลข้างเคียงที่ร้ายแรงที่สุดของการฉีดสารเติมเต็มบนใบหน้าคือ ตาบอด หรือการเกิดเนื้อตายบริเวณที่ฉีด เมื่อฉีดกรดไฮยาลูโรนิกเข้าไปในเส้นเลือดบริเวณที่ทำการรักษา การเกิดเนื้อตายนี้อาจเกิดจากการอุดตันของเส้นเลือดโดยตรง หรือเกิดจากการเพิ่มความดันรอบ ๆ หลอดเลือดและส่งผลให้เกิดการอุดตันของเส้นเลือดก็ได้ ซึ่งตำแหน่งที่เกิดผลข้างเคียงเช่นนี้ พบได้บ่อยที่สุดบริเวณรอยย่นระหว่างคิ้ว โดยขณะที่ฉีดจะพบว่าผิวหนังบริเวณที่ฉีดสารเติมเต็มจะเปลี่ยนสีเป็นสีขาว (blanching) และเปลี่ยนเป็นสีม่วงตามมา ผู้ป่วยจะมีอาการปวดอย่างรุนแรง การรักษาควรทำทันทีด้วยการหยุดฉีดสารเติมเต็มนั้น พยายามดูดสารเติมเต็มที่ฉีดเข้าไปออกมาถ้าทำได้ นวดบริเวณที่ฉีดเพื่อกระจายและลดการจับตัวเป็นก้อนของสารเติมเต็ม ฉีดเอ็นไซม์ไฮยาลูโรนิเดส เพื่อให้กรดไฮยาลูโรนิกสลายตัว การประคบอุ่น และใช้ 2% nitroglycerine paste ปิดบริเวณที่ฉีดจะช่วยทำให้เส้นเลือดขยายตัว และลดภาวะเนื้อตายได้
* ผลลัพธ์ที่ได้ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล